การทำศัลยกรรมริมผีปาก เป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มมิติให้กับใบหน้า ริมฝีปากที่อวบอิ่ม ช่วยเพิ่มความเย้ายวน ชวนให้หน้าดูเป็นมิตร และเสริมบุคคลิกภาพ ช่วยสร้างความมั่นใจที่มากขึ้น
ปากกระจับคืออะไร?
ปากกระจับ หรือปากทรงปีกนกที่ช่วงริมฝีปากโค้งมนขึ้น เป็นรูปทรงปากที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เนื่องจากรับกับรูปหน้าที่มีตานิด จมูกหน่อย ในหมู่ชาวเอเชีย มากกว่าปากอวบอิ่มสไตล์สายฝรั่ง นอกจากนี้ หลายคนยังเชื่อว่าเป็นการเสริมโหงวเฮ้งให้กับใบหน้า เราลองมาพิจารณากันว่า ปากกระจับเหมาะกับใคร มีวิธีการทำอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรให้สวยเป็นธรรมชาติครับ
ศัลยกรรมปากกระจับ เหมาะกับใคร?
การทำปากกระจับ สามารถทำได้โดย 2 วิธีคือ การผ่าตัด และการฉีดฟิลเลอร์หรือไขมันตนเอง
1. คนที่ริมฝีปากหนา
การทำศัลยกรรมปากกระจับด้วยวิธีผ่าตัด เหมาะกับคนที่มีริมฝีปากหนามาก ๆ แต่รูปปากด้านบนไม่โค้ง ไม่เป็นทรง จึงอยากตัดเนื้อส่วนเกินออกไป และปรับรูปปากให้เข้าที่ การผ่าตัดปากกระจับ เห็นหัตถการที่มีผลถาวรและต้องใช้ความละเอียดเป็นอย่างมาก จึงควรเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง
2. คนที่ริมฝีปากบาง
ส่วนการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ เหมาะกับคนที่มีริมฝีปากบาง มีเนื้อปากน้อย แต่อยากจะเพิ่มความอวบอิ่มให้กับริมฝีปาก แต่ข้อจำกัดของฟิลเลอร์คือ อยู่ได้ไม่นาน ต้องมาทำใหม่เรื่อย ๆ แต่ก็มีข้อดีในแง่ที่ว่า หากไม่พอใจผลการรักษาก็สามารถมาฉีดสลายฟิลเลอร์และปั้นรูปปากใหม่ได้ หรืออาจใช้การฉีดไขมันระดับไมโครโดยใช้ไขมันตนเองซึ่งก็จะอยู่แบบถาวรกว่า
นอกจากนี้ การผ่าตัดทำศัลยกรรมปากกระจับอาจเป็นตัวเลือกของผู้ที่ป่วยด้วยภาวะปากปวมใหญ่ (macrocheilia) กลุ่มอาการเมลเคอร์สลัน-โรเซนธาล (Melkersson-Rosenthal Syndrome) และกลุ่มอาการแอชเชอร์ (Ascher Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่นริมฝีปากบวมโตได้
ปากกระจับ ทำอย่างไรให้เป็นธรรมชาติ
การทำปากกระจับออกมาให้สวยเป็นธรรมชาติ ต้องอาศัยฝีมือและความเชี่ยวชาญของคุณหมอเป็นอย่างมาก ดังนั้น ควรเลือกแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทางที่สามารถประเมินรูปปากของเราได้ รู้สัดส่วนว่าต้องตัดรูปปากไม่ให้เยอะเกินไป คล้ายกับการทำศัลยกรรมตัดปีกจมูก และต้องรู้วิธีหลบแผล เย็บแผลอย่างไรไม่ให้เป็นแผลเป็น เป็นรอยหยัก ๆ หรือทำแล้วปิดปากไม่สนิท ต้องเม้มปากตลอดเวลา ดูไม่เป็นธรรมชาติ
ลักษณะปากกระจับที่ดูเป็นธรรมชาติ
- ขนาดริมฝีปากที่พอดีกับรูปหน้า และสัดส่วนของปากบนและปากล่างอยู่ที่ประมาณ 1:1.6 – 1.8 (ปากล่างดูอวบอิ่มกว่าปากบนเล็กน้อย)
- เมื่อมองจากด้านข้าง เส้นตรงจากบริเวณปลายจมูกถึงปลายคาง ริมฝีปากล่างควรแตะเส้นนี้พอดี และริมฝีปากบนหุบเข้าไปจากเส้นนี้เล็กน้อย ประมาณ 2 มิลลิเมตร
- เมื่อมองจากด้านหน้า มุมปากทั้ง 2 ข้างควรเชิดขึ้น และกว้างเสมอกึ่งกลางของลูกตาดำเวลามองตรงพอดี
- ริมฝีปากบนเป็นรูปตัว M มีขอบปากให้เห็นชัดเจน และริมฝีปากล่างไม่ควรใหญ่กว่าสัดส่วนของยอดตัว M มากนัก
- เนื้อปากอวบอิ่ม ไร้ริ้วรอย และขอบรอยต่อระหว่างริมฝีปากและผิวหน้าไม่มีริ้วรอย
ข้อควรพิจารณาก่อนทำปากกระจับ
- เนื่องจากการผ่าตัดทำปากกระจับเป็นศัลยกรรมที่มีผลถาวร จึงควรเลือกทำกับแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน สามารถทำการผ่าตัดที่ใช้ความละเอียด ไม่ทำลายเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อสำคัญ ซึ่งอาจกระทบกับบุคคลิกภาพในแง่การพูด การรับประทานอาหาร และได้ทรงปากที่ต้องการ
- หากแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญ ผลการรักษาไม่เป็นที่น่าประทับใจ แก้ไขไม่ได้ เช่น บางคนตัดปากกระจับออกมาแล้วเป็นเส้นหยัก ๆ ปิดปากไม่สนิท ทำให้ต้องเม้มปากตลอดเวลา ไม่เป็นธรรมชาติ หรือถ้าตัดเนื้อออกมากเกินไป อาจทำให้เวลายิ้มเห็นเหงือกหรือฟันตลอดเวลามากเกิน จนเสียบุคคลิก
- การผ่าตัดทำปากกระจับต้องใช้เวลารักษานาน ประมาณ 7-10 วันเพื่อฟื้นฟูแผล และกว่าจะหายดีต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ และรูปปากจะเข้าที่ประมาณ 1 เดือน
- หลังผ่าตัดต้องดูแลทำความสะอาดแผลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากริมฝีปากเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องมีการขยับตลอดเวลา และใช้รับประทานอาหาร
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดทำปากกระจับ
- รวบรวมข้อมูลของคลินิค เช่น ผลงานที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือของแพทย์ เช็กชื่อแพทย์ในเว็บแพทยสภาว่าเป็นแพทย์จบเฉพาะทางหรือไม่อย่างไร ก่อนเข้ารับคำปรึกษาอย่างละเอียด
- สำรวจตัวเองว่า เหมาะกับการทำปากกระจับในรูปแบบไหน ผ่าตัดหรือฉีดฟิลเลอร์หรือไขมันตนเอง เวลาและเทคนิคในการดูแลรักษาตัวเองหลังผ่าตัด เพื่อเตรียมตัว
- หากมีโรคประจำตัว หรือมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ หรือมีอาการแพ้ยา โดยเฉพาะยาชา ควรแจ้งแพทย์ในขั้นตอนการปรึกษา เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม
- ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด งดรับประทานยาในกลุ่มที่มีการสลายตัวของลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน และยาในกลุ่ม NSAIDs รวมถึงวิตามินที่ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว และงดแว็กซ์หนวดริมฝีปาก
- ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด งดดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลอักเสบ
ขั้นตอนการผ่าตัดทำปากกระจับ
- รับประทานอาหารและแปรงฟันให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- เมื่อถึงเวลาเข้าห้องผ่าตัด และผู้เข้ารับการรักษาขึ้นนอนบนเตียงเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะเริ่มวาดเส้นบนริมฝีปาก เพื่อกำหนดจุด ทำเครื่องหมายส่วนที่ต้องตัดแต่ง
- เมื่อวาดเส้นได้รูปปากที่ต้องการแล้ว แพทย์จะเริ่มฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการผ่าตัด เพื่อลดอาการเจ็บปวดขณะทำหัตถการ แต่ผู้เข้ารับการรักษาจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
- เริ่มลงมีด และผ่าตัดเนื้อเยื่อริมฝีปากด้านในออก เมื่อให้ปากได้ทรง แต่ถ้าผู้ที่เข้ารับการรักษาคนใดมีเนื้อปากด้านในน้อย แพทย์อาจจะต้องตัดเนื้อริมฝีปากด้านนอกออกด้วย เพื่อให้ปากได้รูปตามต้องการ โดยแพทย์มักจะลงแผลอยู่ในช่วงเส้นแบ่งระวังปากส่วนเปียกกับปากส่วนแห้งด้านนอกและขอบเรียบคม เพื่อให้แผลเชื่อมและรักษาตัวได้ง่าย ป้องกันการเกิดแผลเป็น
- ขั้นตอนนี้ แพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ผ่าตัดโดนเนื้อเยื่อสำคัญที่ใช้ในการพูดและการขยับปาก ต้องพยายามกรีดแผลไม่ชิดกับมุมปากมากเกินไป โดยเว้นประมาณ 5 มิลลิเมตรจากแต่ละข้าง เพื่อป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นบริเวณมุมปากที่สังเกตได้ง่าย และทำให้ปากแคบลง
- เย็บเก็บแผลให้ได้ทรงปากกระจับที่ต้องการ โดยแพทย์มักจะเย็บ 2-3 ชั้นโดยมากใช้ไหมละลาย ป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น รอยนูน ทำให้ริมฝีปากไม่เรียบเนียนสม่ำเสมอ
- แผลจากการผ่าตัดริมฝีปากจะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 7-9 วันหลังผ่าตัด โดยระหว่างนี้ ผู้ป่วยต้องรักษาความสะอาดของแผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะแผลต้องสัมผัสน้ำ อาหาร น้ำลาย
วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
- เมื่อแพทย์ประเมินอาการแล้ว และไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด จะจ่ายยาแก้ปวด แก้อักเสบให้กับคนไข้ เพื่อบรรเทาอาการปวด เจ็บแผลหลังยาชาหมดฤทธิ์ และให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน
- ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยพยายามเลี่ยงท่านอนตะแคง หรือนอนคว่ำ เพราะอาจจะกระทบกับแผล
- หลังผ่าตัด พยายามไม่อ้าปากกว้างจนเกินไป ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและแปรงฟันอย่างระมัดระวัง
- ทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากมีภาวะแทรกซ้อนให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพื่อป้องกันการอักเสบ และแผลสมานตัวช้า พยายามดื่มน้ำ ทานอาหารที่มีประโยชน์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- แผลติดเชื้อ มีเลือดออก
- แผลบริเวณกล้ามเนื้อปากจะไวต่อการสัมผัส อาจจะเจ็บปวดได้ง่ายถ้าถูกกระทบกระเทือน
- อาจมีรอยแผลเป็นนูนบริเวณแผลผ่าตัด
- แผลไม่สมมาตร ไม่ได้สัดส่วนกับริมฝีปาก ใบหน้า
- เส้นประสาทและเนื้อเยื่อบริเวณริมฝีปากถูกทำลาย
- แพ้ยาชา
การผ่าตัดทำปากกระจับไม่เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีริมฝีปากบาง เนื้อริมฝีปากน้อย อาจเหมาะกับการรักษาด้วยการฉีดฟิลเลอร์หรือไขมันมากกว่า
- ผู้ที่มีอาการในภาวะปากบวมใหญ่หลอก (Pseudomacrocheilia) ที่อาจคล้ายกับภาวะปากบวมใหญ่ แต่ไม่ได้ป่วยด้วยภาวะนี้จริง ๆ
- ผู้ที่มีภาวะปากอักเสบอยู่ จะทำให้การผ่าตัดต้องทำหลายครั้งจนกว่าจะได้ผลที่น่าพอใจ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสภาวะทางจิตใจ ที่กังวลและได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงต่อผลผ่าตัด
ใครอยากปรึกษามีปัญหาคาใจ ทุกคำถาม..เรามีคำตอบ ส่งรูปประเมินส่วนตัวมาได้ ตามลิงก์ด้านล่าง หมอจะประเมินให้เองทุกคน