065-964-6326

           “ดึงหน้าชั้นลึก” Full Face Lift กลายเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่เคยสงสัยไหมว่ามันคืออะไรกันแน่? บทความนี้หมอจะชวนมาทำความเข้าใจทุกแง่มุมของการดึงหน้าชั้นลึก เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ที่ถูกต้องและครบถ้วน ดึงหน้าชั้นลึก คืออะไร? ดึงหน้าส่วนไหนบ้าง แตกต่างจากการดึงหน้าแบบอื่นอย่างไร และมีขั้นตอนการทำอย่างไร ไขข้อสงสัยเจาะลึกอย่างละเอียดทุกประเด็นที่คุณควรรู้!

Full Face Lift คืออะไร ?

           Full Face Lift หมายถึง การดึงหน้าและคอทั้งหมด ยกเว้นส่วนของหน้าผาก ซึ่งการดึงหน้าผากจะแยกเป็นอีกเรื่อง อาจจะเป็นการทำ Forehead Lift หรืออาจจะเป็นเรื่องของ Endoscope Brow Lift แต่จะมีอีกคำที่ใกล้เคียงกัน นั่นก็คือคำว่า Full Face and Neck Lift อันนี้จะหมายถึงการดึงหน้าส่วนบน ส่วนล่าง ส่วนกลาง ส่วนคอ และใต้เหนียงทั้งหมด

ขั้นตอนการผ่าตัดดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift

           การผ่าตัดดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift จะเริ่มต้นด้วยการลงแผล ซึ่งแพทย์แต่ละท่านจะมีเทคนิคและความถนัดในการลงแผลที่แตกต่างกัน ขั้นตอนถัดไปจะเป็นการเลาะผิวหนัง การจัดการชั้น SMAS การจัดการชั้นลึก (ใต้ SMAS) ดึงยกกระชับกล้ามเนื้อ และการตกแต่งผิวหนังส่วนเกิน

1. การลงแผล

           เทคนิคการลงแผลของแพทย์แต่ละท่านจะไม่เหมือนกัน หมอจะไล่เป็นส่วน ๆ ดังนี้

           1) ส่วนบน

           แพทย์บางท่านจะเลือกลงแผลบริเวณขมับหรือไรผม เหมือนในรูปด้านซ้าย เพื่อซ่อนรอยแผลเป็น (ส่วนตัวหมอใช้วิธีนี้) แต่แพทย์บางท่านจะเลือกลงแผลตรงหน้าไรผม เหมือนในรูปด้านขวา ซึ่งจะต้องอ้อมจอนไปอีกนิดนึง เพื่อจะให้มาต่อกับแผลส่วนหน้าหู

           2) ส่วนหน้าหู

           บริเวณติ่งหน้าหู (ไม่ใช่ติ่งหูด้านล่าง) แพทย์แต่ละท่านจะมีรูปแบบการลงแผลที่แตกต่างกัน ได้แก่ หน้าติ่งหน้าหู , ขอบของติ่งหน้าหู  (ส่วนตัวหมอใช้วิธีนี้) ถ้าดูรูปเปรียบเทียบด้านล่าง คือ เส้นสีน้ำเงิน และสีแดง ตามลำดับ หรือแพทย์บางท่านก็จะลงบริเวณหลังติ่งหน้าหูด้านในไปเลย

ดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift การลงแผล

รูปการลงแผลส่วนหน้าหู เปรียบเทียบระหว่าง หน้าติ่งหน้าหู (เส้นสีน้ำเงิน) และ ขอบติ่งหน้าหู (เส้นสีแดง)

      • หน้าติ่งหน้าหู : หมอใช้ตำแหน่งนี้ในคนไข้บางราย เช่น คนที่ไม่อยากให้รูปร่างหรือความหนาของติ่งหน้าหูเปลี่ยนไป , ผู้ชายที่มีเคราบนผิวหน้าและไม่อยากให้เคราขึ้นมาอยู่บนหู (โดยเฉพาะในคนไข้ฝรั่ง)
      • ขอบติ่งหน้าหู : ปกติหมอใช้ตำแหน่งนี้ครับ โดยหมอจะใช้เส้นที่อยู่ตรงขอบพอดี หรือเรียกว่า On the Edge เลย เพราะซ่อนแผลได้ดีกว่า และเมื่อหายแล้วไม่ค่อยเจ็บ
      • หลังติ่งหน้าหู : จุดนี้ตั้งใจเพื่อซ่อนแนวแผลให้มากขึ้น แต่ความเห็นส่วนตัวของหมอคือ หมอจะไม่ค่อยใช้ตำแหน่งนี้ครับ เพราะเวลาใส่หูฟังหรือเวลาเช็ดในหู อาจจะไปกดเจ็บได้ หรือพอมีแรงดึงรั้ง อาจจะดันให้ติ่งหน้าหูมีลักษณะเหมือนกางนิด ๆ

           3) ส่วนหลังหู

           ส่วนใหญ่แพทย์ทุกคนจะลงแผลชิดหลังหู แต่แนวแผลขึ้นไปสูงพอสมควร ส่วนตัวหมอจะลงแผลแถวกลาง ๆ หู แล้วเข้าไปในไรผม หรืออีกแบบคือเกาะที่ไรผม

ดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift การลงแผล

รูปการลงแผลส่วนหลังหู เปรียบเทียบระหว่าง เข้าไปในไรผม และ เกาะที่ไรผม

 

      • เข้าไปในไรผม : กรณีเป็นเคสคนไข้ผู้หญิงที่ผมค่อนข้างยาว เพื่อซ่อนแผล
      • เกาะที่ไรผม : กรณีคนไข้เป็นผู้ชายผมสั้น หรือคนที่ลักษณะของไรผมกับหูมันไกล เรียกว่าล้านด้านหลัง หมอก็จะลงตรงไรผมเลย เพราะหากลงในผม มันจะมีการยกผมหรือหมุนผมขึ้นไปอีกนิดนึง ซึ่งอาจจะทําให้ระยะตรงนี้มันดูล้านไกลขึ้นไปอีก

2. การเลาะผิวหนัง

           แพทย์จะเลาะผิวหนังบริเวณใบหน้าทั้งหมด ได้แก่ ผิวหน้า แก้ม ขอบกลาง ขอบล่าง ใต้คอ และด้านล่าง เพื่อให้ผิวหนังแยกออกจากชั้น SMAS เมื่อเลาะผิวหนังเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องหยุดเลือดให้แห้งสนิทก่อนทำขั้นตอนถัดไป

           จุดสูงสุดที่เลาะขึ้นไปชิดหูด้านหลัง ไม่ควรสูงหรือต่ำไป ข้อเสียถ้าสูงไปแล้ววกกลับลงมา อาจทำให้เป็นมุมแหลมเกินไป มีโอกาสที่เนื้อจะตายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่ หรือคนที่เนื้อบางมาก ๆ  หรือบางคนลงต่ำไป เพราะกลัวการเลาะไม่ถึงคอด่านล่าง หรือไม่ชำนาญการเลาะ ก็อาจเห็นแผลได้ง่ายเกินไป ไม่ซ่อน ปกติหมอจะเลาะอยู่ตรงกลาง ๆ ของความสูงหู แล้วไปตรง ๆ ในผมหรือมาทางไรผม เพื่อไม่ให้ขอบเป็นมุมแหลมเกินไป ก็สามารถซ่อนแผลได้เพียงพอ

           ความกว้างของบริเวณการเลาะผิวหนังต้องให้กว้างพอ อาจจะเลาะเข้ามาชิดถึงบริเวณเกือบ ๆ ร่องแก้ม แต่ไม่เลาะเลยเข้ามาด้านในนะครับ เพราะตรงนี้จะมีเส้นประสาท ส่วนความไกลที่มาทางคอด้านล่างนั้น ส่วนใหญ่ในคนเอเชียหรือคนไทย เรามักจะต้องเลาะไกล เพราะความหย่อนจะอยู่ที่ชั้นผิวหนังเป็นหลัก

3. การจัดการชั้น SMAS

           SMAS คืออะไร? ชั้น SMAS คือ ชั้นกล้ามเนื้อบาง ๆ ที่อยู่ใต้ผิวหนัง อยู่บนกล้ามเนื้อหลักที่ทํางานของหน้า จะเป็นแผ่นต่อกันเป็นแผงที่หน้าและที่คอ ยาวต่อมาถึงกล้ามเนื้อคอ เมื่อเวลาเกร็งคอเราจะเห็นเป็นแผงคอ ซึ่งจริง ๆ มันคือกล้ามเนื้อ Platysma แต่เป็นระบบส่วนหนึ่งของ SMAS (Superficial Musculo Aponeurotic System)

           สิ่งที่เป็นข้อควรระวังคือ “ต้องเลาะให้หลุดเลย” คือต้องเลาะให้เยื่อเอ็นยึดกล้ามเนื้อกับกระดูก มันถูกยืดลอยออกจากกัน อาจจะมีเอ็นยึดแถว ๆ บริเวณตรงกระดูกโหนกแก้ม เอ็นยึดแถว ๆ บริเวณกระดูกกราม อันนี้ต้องเลาะให้คลาย ให้ลอย เพราะฉะนั้นก็ต้องเลาะไปไกลพอสมควรครับ

           เพราะใต้ชั้น SMAS เป็นเส้นประสาท ซึ่งอยู่ติดกันมาก บางมาก แม้ว่าอาจจะมีต่อมน้ำลายหน้าหูที่บังไว้นิดหน่อย แต่พอเลยมาแล้วมันจะบางมาก ถ้าใครเลาะไม่ชํานาญหรือไม่ถูก Plane ก็อาจจะไปโดนเส้นประสาท และทำให้หน้าเบี้ยวได้

           การดึงชั้น SMAS มีหลายเทคนิค เช่น การเย็บย่นระยะ (Plication) การเลาะเฉพาะด้านบน (High SMAS) แล้วก็เลาะลงมาด้านล่าง และดึงขึ้นไป หรือการเลาะทั้ง High SMAS และ Extended SMAS คือเลาะลงมาถึงข้างล่างคอที่จะยกมาทั้งแผ่น เพื่อให้ถึงระยะและดึงกลับไป ซึ่งแต่ละเทคนิคให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ส่วนตัวหมอก็ใช้วิธีเลาะทั้ง High SMAS และ Extended ด้วย

ดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift ชั้น SMAS

4. การจัดการชั้นลึก

           ชั้นลึก คือ ชั้นใต้ SMAS เมื่อพูดถึงการดึงหน้าชั้นลึก นั่นก็คือการเลาะชั้นลึกที่หมายถึงชั้นใต้ SMAS นั่นเอง ถ้าไม่เลาะ ก็คงจะไม่ใช่ชั้นลึกนะครับ หรือกรณีที่เลาะไปนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ได้คลายตัวเอ็นยึดกระดูก หรือเลาะไม่ไกลพอที่จะดึงออกมาเป็นแผ่นได้ ก็ไม่ใช่การดึงหน้าชั้นลึกนะครับ

           นอกจากนี้ ศัลยแพทย์ต่างชาติบางคนจะบอกว่า การที่เลาะแยกกันสองชั้นเป็นแบบโบราณ อันนี้ต้องดูแล้วแต่เคสไปครับ เพราะว่าการเลาะชั้นลึก หรือชั้นใต้ SMAS มันเลาะไปไกลเท่ากันแหละ เพียงแต่ว่าใต้ผิวหนังนั้น ส่วนใหญ่หมอจะเลาะค่อนข้างไกล โดยเฉพาะใต้คางซ้ายขวาถึงกันเลย เหมือนให้กลายเป็นแผ่นเดียว แล้วเรายกขึ้นไปทั้งแผง อันนี้ก็จะได้ผลที่ดีกว่านั่นเอง

           ส่วนแนวทางของศัลยแพทย์ต่างชาติ จะใช้คําว่า Composite คือให้มันไปด้วยกัน เลาะผิวหนังไม่ได้ไกลมาก แต่คนเอเชียหรือฝรั่งบางคนที่ความย่นของผิวหนังเยอะ ๆ มันจะมีระยะระหว่างตัวกล้ามเนื้อ SMAS กับตัวผิวหนังเอง ที่ผิวหนังระยะมันเยอะกว่า มันย่นเยอะกว่า ดังนั้นถ้าผิวหนังไม่ถูกเลาะไป แล้วยืดให้ตึงด้วยทั้งสองชั้น มันอาจจะตึงไม่สุดนะครับ อธิบายง่าย ๆ คือ มันยู่อยู่ และเลาะไปใต้กล้ามเนื้อ และยกไปด้วยกัน

5. การตกแต่งผิวหนังส่วนเกิน และเย็บปิดแผล

           การทํา SMAS ในกรณีที่เลาะยกขึ้นมา (ไม่ใช่แค่เย็บย่นระยะ) เมื่อยกขึ้นมาแล้วอาจมีส่วนที่เกิน ก็จะใช้วิธีตัดกล้ามเนื้อออก และเย็บไว้กับตัวขอบเดิม หรือเรียกว่า SMAS Ectomy

           แต่ส่วนตัวหมอมักจะไม่ค่อยตัดออก เพราะตัว SMAS จะมีความหนาต่างกัน ด้านข้าง ๆ หนาสุด ตรงกลางเริ่มบาง ส่วนแข็งแรงที่สุดคือส่วนด้านข้างสุด หมอจะใช้ส่วนแข็งแรงไปยึดกับเอ็นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อด้านบน เอ็นเยื่อหุ้มของกล้ามเนื้อคอที่ค่อนข้างจะแข็งแรง และส่วนเกินจริง ๆ ที่เป็นส่วนหน้าหู หมอถึงจะเล็มออกเล็กน้อยเท่านั้น

           และเมื่อเราดึงตึงแล้ว มันอาจจะยังมีอีกส่วนที่ทิ้งท้องนิด ๆ เราอาจจะต้องไปเย็บกระชับเพิ่มเติม พูดง่าย ๆ คือ ทํามันทั้งสองอย่างเลยครับ และรวมทั้งสิ่งที่เราจะต้องไประชับมันเพิ่มด้วย ดึง-ยก-ยืด-กระชับ โดยเฉพาะคนไทยหรือคนเอเชียมักจะมีส่วนกระพุ้งแก้ม อันนี้เราก็จะต้องเย็บตึงให้มากที่สุด 

           แต่ SMAS ตึงได้ที่สุดแค่ไหน ก็แค่นั้นนะครับ ซึ่งตรงนี้เราไปเย็บกระชับมันไม่ได้ ใต้นั้นมันยังมีรูปร่างของตัวกล้ามเนื้อที่เป็นกล้ามเนื้อหลัก กล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ ที่ทิ้งตัวเป็นก้อน หากไปเย็บกระชับมันจะเสียหน้าที่ หรือเสี่ยงจะโดนเส้นประสาท สุดท้ายก็อาจจะต้องมาดึงหนังให้ค่อนข้างตึง เพื่อห่อเข้าไปอีกชั้นนึง หรือใช้การฉีดไขมันเติมเต็มเพื่อให้ตื้นขึ้น บวกกับที่เราดึงไว้ด้วยนั่นเองนะครับ

           ส่วนใต้คาง มันมักจะมีไขมันด้วย เวลาหมอดึงหน้า หมอก็จะเกลี่ยดูดไขมันให้ด้วย ใต้คาง เหนียง เพื่อให้มันเรียบที่สุดนั่นเอง

           เมื่อเราเย็บ SMAS เรียบร้อย เราก็ดึงผิวหนังตาม เพื่อให้ได้รูป อันนี้ก็เป็นเรื่องการดีไซน์ของศัลยแพทย์แต่ละท่าน จะจับอะไรชนตรงไหน จะต้องให้เป๊ะ ๆ และหน้าไม่แปลก หน้าไม่เป็นปลาปากยื่น (Fish face) หรือหางตาต้องไม่ชี้จนเป็นมนุษย์ต่างดาว

           หลังจากนี้แล้ว พอเราทําตรงนี้เสร็จ เราจะดึงระยะที่เราจะเก็บต้องเป๊ะ ๆ และเก็บระยะติ่งหูไว้สุดท้ายเพื่อให้มีความหย่อน เพื่อให้ไม่รั้งมากที่สุด ป้องกันโอกาสเกิดการดึงติ่งหูนั่นเอง อาจจะเป็นติ่งหูยาวกว่าปกตินิดนึง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะต้องมาแก้ไขเหมือนกัน

ดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift

6. หัตถการแทรกอื่น ๆ

           สําหรับตัวหมอ จะมีเพิ่มเติมหัตถการแทรกอยู่ 2 จุดใหญ่ ๆ เพื่อผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ

           1) การยกคิ้ว (Lateral brow lift)

           สำหรับคนที่มีหางคิ้วตก หรือหางตาตกเยอะ ๆ ส่วนใหญ่หมอจะยกทั้งคิ้ว ใช้แผลที่ไรผมเพิ่มด้วย แต่แพทย์บางท่านที่ลงแผลหน้าผมอยู่แล้ว แล้วจะต่อกับตรงนี้ มันจะต้องอ้อมจอนไป คือจะมีแผลที่อ้อมจอนตรงนี้ ซึ่งถ้าในคนเอเชีย หมอคิดว่าอาจจะแดงหรือเห็นชัดไปหน่อย ก็เลยสมมติว่าถ้าหางคิ้วตกมาก เราก็จะซ่อนแผลหลักอยู่ในผม ส่วนแผลที่เป็นหางคิ้ว เราจะมา Short Incision ตรงไรผมนิดนึง เพื่อดึงขึ้นไปอีกดีกรีนึง แล้วเราก็ใช้การสลิงเพื่อยึดกับกล้ามเนื้อตรงนี้ด้วย เพราะเราเลาะไว้แล้ว มันก็จะได้แรงดึงอีกสองทาง

           2) การเย็บซ่อมกล้ามเนื้อ Platysma (Platysmoplasty)

           สำหรับคนที่มีกล้ามเนื้อคอหย่อนคล้อย ส่วนใต้คางห้อยมาก เราอาจจะต้องลงแผลตรงใต้คางนี่อีกสั้น ๆ เพื่อเข้ามาเย็บขอบตัวกล้ามเนื้อให้มันห่อ ให้มันติดกัน

           นอกจากนี้ บางคนอาจจะมีต่อมน้ำลายค่อนข้างใหญ่ และมันอาจจะห้อย ๆ หน่อย ปกติถ้าไม่จําเป็น หมอก็จะไม่เข้าไปตัดมัน เพราะว่ามันจะมีผลแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น 1. เลือดออกเยอะขึ้น ตรงนั้นจะมีเลือดออก และมีเลือดคลั่งได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่จําเป็นเราก็จะไม่ทํา ยกเว้นในรายที่จําเป็นจริง ๆ 2. อาจจะมีโอกาสไปโดนเส้นประสาทที่เลี้ยงลิ้น อาจจะทําให้คนนั้นปากแห้งมากกว่าปกติ ซึ่งบางทีเขาก็ไม่ตัดทั้งหมด อาจจะตัดบางส่วน หรือฝานออก ซึ่งมันอาจจะทําให้มีอาการน้ำลายคลั่งหลังผ่าตัดได้ เพราะว่าต่อมน้ำลายถูกฝานออก อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็เหมือนแตงโมที่ถูกฝาน แล้วน้ำมันสร้างขึ้นทุกวันนั่นเอง

ข้อจำกัดและข้อควรระวัง

           สิ่งที่คุณหมอย้ำก็คือเรื่อง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่อยู่ใต้เส้นประสาท ที่เป็นกล้ามเนื้อมัดที่เราใช้งานตอนยิ้ม การดึงคอ การดึงมุมปากอะไรพวกนี้ เราไปทําอะไรกับเขาไม่ได้แล้ว มันมีข้อจำกัด! เพื่อความปลอดภัย ต้องเข้าใจว่าบางทีผลลัพธ์อาจจะไม่ได้ตามความคาดหวัง จะไปดึงให้ตึงเป๊ะไปเลยทุกคน อันนี้ไม่ได้นะครับ โดยหลักการแล้วหมอจะเน้นผลลัพธ์ดังนี้

           1. ต้องธรรมชาติ
           2. ต้องตึงพอดีและหน้าไม่ดูแปลก
           3. ผลแทรกซ้อนจะต้องไม่มี หรือมีน้อยมาก
           4. เส้นประสาทที่สําคัญจะต้องไม่ถูกทําลาย

สรุป

           การผ่าตัดดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift เป็นหัตถการที่ค่อนข้างซับซ้อน ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาศัลยแพทย์อย่างละเอียด ทำความเข้าใจขั้นตอนการผ่าตัด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง และที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยครับ แพทย์แต่ละท่านก็มีความถนัดและเทคนิคที่แตกต่างกันไป ไม่มีอะไรถูกหรือผิด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ทุกคนเข้าใจการดึงหน้าชั้นลึกได้มากขึ้น หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามพูดคุยกับหมอได้โดยตรง ทุกช่องทางนะครับ

           บทความต่อไปหมอจะมีสาระดี ๆ มาฝากอีก อย่าลืมติดตามนะครับ และฝากติดตามแพลตฟอร์ม Beauty Med Hub https://beautymedhub.com รวบรวมสาระความรู้ดี ๆ มากมาย จากคุณหมอศัลยแพทย์ตกแต่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน จัดทำทั้งในรูปแบบบทความเจาะลึกและอินโฟกราฟิก อ่านง่าย เข้าใจทุกเรื่องศัลยกรรมเสริมความงามได้ภายในไม่กี่นาที

 

รับชมคลิป ไขความลับดึงหน้าชั้นลึก Full Face Lift ดึงชั้น SMAS คืออะไร ทำไมต้องรู้?

 

ใครอยากปรึกษามีปัญหาคาใจ ทุกคำถาม..เรามีคำตอบ ส่งรูปประเมินส่วนตัวมาได้ ตามลิงก์ด้านล่าง หมอจะประเมินให้เองทุกคน